วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2554

การประชุมหารือเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงาน
 
เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๔ ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤติแรงงานร่วมกับผู้นำแรงงาน นักกฎหมาย ทนายความเครือข่ายด้านแรงงาน และองค์กรพันธมิตร เช่น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน  โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ได้จัดประชุมหารือเพื่อเตรียมการขับเคลื่อนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงาน ที่ประชุมได้แสดงความเห็นอย่างเข้มข้น สรุปสาระสำคัญบางส่วนเพื่อสื่อสารถึงท่านทั้งหลายเพื่อการมีส่วนร่วม ดังนี้
 
            
  ♦ ในช่วงที่ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายแรงงาน และศาลแรงงานก็มิได้ดำเนินการให้เหมาะสมสอดคล้องกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ เช่น
----ไม่มีการตรวจสอบว่าธุรกิจประสบปัญหาจริงหรือไม่ ขาดทุนจริงหรือไม่ ยังคงไกล่เกลี่ยให้ลูกจ้างหรือผู้นำแรงงานรับเงินตามที่นายจ้างเสนอ--- 
---เจ้าหน้าที่แสดงอาการไม่อยากรับเรื่อง   ไม่อยากให้ร้องเรียนเพราะวิกฤติ หรือไม่ก็แนะให้ไปฟ้องศาลแรงงานจะได้ไม่เสียเวลาเปล่า เพราะถ้านายจ้างแพ้เขาก็อุทธรณ์หรือฟ้องศาลอยู่ดี ทำให้ลูกจ้างสับสน---
---เจ้าหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้ลูกจ้างรับค่าชดเชยต่ำกว่ากฎหมาย  ทำนองแก้ตัวให้นายจ้างว่า ขาดทุนหรือหนี้สินล้นพ้นตัว ดำเนินคดีไปก็ไม่รู้ว่าจะได้อะไร และไม่รู้ว่าเมื่อใดคดีจะเสร็จ---
---ลูกจ้างต้องการเรียกเงินคืนตามกฎหมายแรงงาน แต่พนักงานตรวจแรงงานไม่ดำเนินการให้ลูกจ้างกรอกแบบคำร้องตามที่กฎหมายกำหนด (คร. ๗) จนทำให้การดำเนินคดีเปลี่ยนไปเป็นคดีปกครอง แทนที่จะเป็นคดีแรงงานตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนด---
การไกล่เกลี่ยของเจ้าหน้าที่ด้านแรงงาน และศาลแรงงาน ลูกจ้างจำนวนไม่น้อยรู้สึกอัดอัด ถูกกดดัน และรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม หรือจำใจต้องรับเงินเพราะเดือดร้อนมากเช่นกัน การไกล่เกลี่ยมักขึ้นอยู่กับว่านายจ้างยินดีจ่ายเงินให้ตามที่นายจ้างพึงพอใจหรือยินยอม หรือเท่าที่นายจ้างอ้างว่ามีให้เท่านี้
ผู้ทำการไกล่เกลี่ยในศาลแรงงาน ยังขาดความเข้าใจต่อแรงงานที่ประสบปัญหา ขาดความเป็นมืออาชีพ และฝ่ายแรงงานไม่มีส่วนร่วมหรือมีแต่น้อยมากๆ การไกล่เกลี่ยจึงเป็นไปในลักษณะให้คดีเสร็จๆไปและเป็นไปในลักษณะคดีแพ่ง ควรปรับเปลี่ยนแนวคิดในการไกล่เกลี่ย เพราะเรื่องนายจ้างลูกจ้างมิใช่เรื่องทางแพ่ง หรือเรื่องระหว่างบุคคล แต่เป็นเรื่องของการผลิต ความมั่นคงของมนุษย์และสังคม เป็นเรื่องมหาชน
ในคดีที่ฟ้องร้องเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายแรงงาน ศาลแรงงาน หรือเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายต้องมีหน้าที่หาข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนเพียงพอเพื่อแก้ไขปัญหา หรือวินิจฉัยข้อกฎหมายเพื่อเป็นบรรทัดฐาน มิใช่ไกล่เกลี่ยโดยไม่คำนึงเรื่องข้อเท็จจริง  หรือหากตกลงกันไม่ได้ ก็เป็นหน้าที่ของคู่ความ(นายจ้างลูกจ้าง) นำพยานมาสืบเอง ทำให้ลูกจ้างมีภาระมากและเสียเปรียบในที่สุด
            
ในคดีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) วินิจฉัยว่า นายจ้างกระทำอันไม่เป็นธรรมและสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน พร้อมทั้งจ่ายค่าเสียหายให้ลูกจ้างในระหว่างเลิกจ้างด้วย ในชั้นศาลแรงงานได้เปลี่ยนคำสั่งของครส. เป็นให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายเพียงอย่างเดียว อ้างว่านายจ้างกับลูกจ้างไม่สามารถทำงานด้วยกันได้ แต่มิได้ให้เหตุผลหรือวางหลักเกณฑ์ให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างถึงขนาดเป็นปฏิปักษ์ หรือร้าวฉานถึงขนาดทำงานร่วมกันไม่ได้ และค่าเสียหายที่ศาลกำหนดให้ก็ไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่ลูกจ้างได้รับ
ในคดีที่นายจ้างฟ้องเพิกถอนคำสั่งครส. มักไม่ฟ้องลูกจ้างเข้ามาในคดี แต่ ศาลแรงงานก็มิได้เรียกลูกจ้างผู้มีส่วนได้เสียให้เข้ามาในคดี  ทั้ง ๆ ที่มีคำพิพากษาฎีกา วินิจฉัยไว้แล้วว่าศาลแรงงานต้องเรียกลูกจ้างเข้ามาในคดี  ทำให้ลูกจ้างไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม หรือกว่าจะทราบเรื่องและเข้ามาในคดีก็ล่าช้า ไม่อาจคัดค้านหรือโต้แย้งกระบวนพิจารณาที่ดำเนินไปก่อนหน้าแล้วได้ ทำให้เสียหายแก่คดีของตน 
คดีแรงงานล่าช้ามาก ในศาลแรงงานภาคบางแห่งเลื่อนคดีแต่ละครั้ง ราว ๓ เดือน ในช่วงที่โยกกย้ายผู้พิพากษา กว่าจะมีผู้พิพากษาใหม่มาปฏิบัติหน้าที่ กินเวลาหลายเดือน ผู้พิพากษาที่เหลืออยู่น้อยจึงต้องทำงานหนักมาก หรือไม่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คดีล่าช้า
คดีแรงงานที่ขึ้นสู่ศาลฎีกา ใช้เวลานานถึง ๓ ปี หรือ ๔ ปี น่าจะได้เร่งแก้ไขปัญหา
มีผู้ให้ข้อมูลว่า น่าศึกษาการจัดระบบงานของศาลแรงงานกลางมีนบุรี เพราะน่าจะใกล้เคียงกับระบบไต่สวน ศาลมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริง และคดีเสร็จโดยรวดเร็ว
มีการอ้างหรือใช้ประเด็นทางอาญาเพื่อต่อรองในเรื่องทางแรงงานกับผู้นำแรงงาน ทำให้เป็นภาระแก่ลูกจ้างอย่างมากในการต่อสู้คดี และไม่ได้รับความสะดวกในเรื่องการประกันตัว เช่น นายจ้างเสนอว่า ถ้าไม่ลาออก จะดำเนินคดีอาญา หรือถ้ายอมลาออก จะถอนแจ้งความหรือถอนฟ้องคดีอาญา
        
ที่ประชุมเห็นว่า ควรจะต้องรวบรวมปัญหาทั้งหมด ตีแผ่ให้สังคมรับทราบ ทำความชัดเจนในเรื่องบทบาทของศาลแรงงานหรือกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงาน แนวคิดและการจัดระบบการไกล่เกลี่ย การปรับปรุงข้อกำหนดการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานในส่วนที่ยังไม่ดี  เข้าพบเพื่อเสนอความคิดเห็นต่อผู้บริหารหน่วยงานยุติธรรมด้านแรงงาน ในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือมีส่วนได้เสียกับนายจ้างอาจต้องใช้การร้องเรียนการประพฤติมิชอบอย่างจริงจัง รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนเห็นคุณค่าของแรงงาน ส่งเสริมให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม มิใช่เน้นแต่นักกฎหมาย การรู้และเข้าใจกฎหมายแรงงานมิได้หมายความว่าเข้าใจปัญหาแรงงาน   เป็นต้น
หวังว่าทุกภาคส่วนจะได้ร่วมมือกันเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้านแรงงาน ในฐานะที่เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความเป็นธรรมทางด้านแรงงาน และหวังกันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
ในนามของศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤติแรงงานร่วมกับภาคีพันธมิตร ขอประกาศที่จะร่วมมือกันผลักดัน ขับเคลื่อนเรื่องนี้ ทั้งนี้ เนื่องในวาระวันกรรมกรสากล ๒๕๕๔
 
                                                                                            ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤติแรงงาน

0 ความคิดเห็น: